อักษรวิ่ง

การรอบรู้สังคมจะทำให้เราทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ The knowledge society will help us keep pace with events.

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย

          ความหมายของพลเมืองดี
          ความหมายของ “พลเมืองดี” ในวิถีชีวิตประชาธิปไตย พจนานุกรมนักเรียนฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำต่าง ๆ ดังนี้    “พลเมือง” หมายถึง ชาวเมือง ชาวประเทศ ประชาชน “วิถี” หมายถึง สาย แนว ทาง ถนน    “ประชาธิปไตย” หมายถึง แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่
          ดังนั้นคำว่า “พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย” จึงหมายถึง พลเมืองที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรมของศาสนา มีหลักการทางประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตนตามกฎหมาย  ดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ให้เป็นสังคมและประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหลักการทางประชาธิปไตยที่สำคัญ  ได้แก่ 


          1.) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หมายถึง ประชาชนเป็นเจ้าของ อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ
          2.) หลักความเสมอภาค หมายถึง ความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย ถือว่าทุกคนที่เกิดมาจะมีความเท่าเทียมกันในฐานะการเป็นประชากรของรัฐ ได้แก่ มีสิทธิเสรีภาพ มีหน้าที่เสมอภาคกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น   หรือการเลือกปฏิบัติ ควรดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอหรือยากจนกว่า
          3.) หลักนิติธรรม หมายถึง การใช้หลักกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เพื่อความสงบสุขของสังคม
          4.) หลักเหตุผล หมายถึง การใช้เหตุผลที่ถูกต้องในการตัดสินหรือยุติปัญหาในสังคม
          5.) หลักการถือเสียงข้างมาก หมายถึง การลงมติโดยยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย ครอบครัวประชาธิปไตย จึงใช้หลักการถือเสียงข้างมากเพื่อลงมติในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างสันติวิธี
          6.) หลักประนีประนอม หมายถึง การลดความขัดแย้งโดยการผ่อนหนักผ่อนเบาให้กัน ร่วมมือกันเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
          หลักการทางประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการสำคัญที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในสังคม เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้




          แนวทางการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีชีวิตประชาธิปไตย
พลเมืองดีตามวิถีชีวิตประชาธิปไตยควรมีแนวทางการปฏิบัติตนดังนี้ คือ
          1.) ด้านสังคม ได้แก่
               - การแสดงความคิดอย่างมีเหตุผล
               - การรับฟังข้อคิดเห็นของผู้อื่น
               - การยอมรับเมื่อผู้อื่นมีเหตุผลที่ดีกว่า
               - การตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
               - การเคารพระเบียบของสังคม
               - การมีจิตสาธารณะ คือ เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมและรักษาสาธารณสมบัติ
          2.) ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
               - การประหยัดและอดออมในครอบครัว
               - การซื่อสัตย์สุจริตต่ออาชีพที่ทำ
               - การพัฒนางานอาชีพให้ก้าวหน้า
               - การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
               - การสร้างงานและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
               - การเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ดี มีความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ดีต่อชาติเป็นสำคัญ
          3.) ด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่
               - การเคารพกฎหมาย
               - การรับฟังข้อคิดเห็นของทุกคนโดยอดทนต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
               - การยอมรับในเหตุผลที่ดีกว่า
               - การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
               - การกล้าเสนอความคิดเห็นต่อส่วนรวม กล้าเสนอตนเองในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หรือสมาชิกวุฒิสภา
               - การทำงานอย่างเต็มความสามารถ เต็มเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น